“นึกย้อน-สะท้อนกลับ” ถึงการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจหลังสึนามิ: กรณีศึกษาชุมชนมอแกนเกาะเหลา จังหวัดระนอง

ชุมชนท้องถิ่นที่ประสบภัยสึนามิในภาคใต้ของประเทศไทยหลายชุมชนเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการขาดความมั่นคงและการขาดสิทธิในหลายด้าน  อาทิเช่น กลุ่มชาวประมงไร้ที่ดิน กลุ่มไทยพลัดถิ่นกลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มชาวเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมอแกน   ชาวมอแกนเป็นชนพื้นเมืองที่เผชิญปัญหาหลายอย่าง  ในบรรดาชุมชนชาวมอแกนในประเทศไทย  กลุ่มที่มีปัญหาหนักที่สุดคือกลุ่มที่อาศัยอยู่ที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และกลุ่มที่เกาะเหลา จังหวัดระนอง รายงาน “นึกย้อน-สะท้อนกลับ” นี้จะเน้นที่การบันทึกความเป็นไปของชุมชนเกาะเหลาก่อนและหลังเหตุการณ์สึนามิรวมทั้งบันทึกการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสรุปบทเรียนจากการลงไปช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนของหลายองค์กรหลายมูลนิธิจนกระทั่งเกิดความสับสนและความซับซ้อนในการทำงาน  บทเรียนเหล่านี้แม้ว่าจะเกิดที่เกาะเหลาซึ่งเป็นบริบทที่ค่อนข้างจำเพาะ   แต่หลายอย่างก็เป็นปัญหาและอุปสรรคที่พบในหลายชุมชนระหว่างการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังสึนามิ และเป็นสิ่งที่ควรได้รับรู้และเผยแพร่เพื่อที่จะกระตุ้นเตือนไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากในการทำงานเช่นนี้อีก  ส่วนท้ายของรายงานนี้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานในพื้นที่เกาะเหลาในอนาคต ซึ่งรวบรวมมาจากความคิดเห็นของบุคคลที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่เกาะเหลาและจากการวิเคราะห์ของทีมงานโครงการนำร่องอันดามัน

ทีมวิจัยโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551. “นึกย้อน-สะท้อนกลับ” ถึงการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจหลังสึนามิ: กรณีศึกษาชุมชนมอแกนเกาะเหลา จังหวัดระนอง. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ดาวน์โหลดเอกสาร