
งานวิจัยชิ้นนี้เน้นที่การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของชุมชนพื้นเมืองในประเทศไทย โดยเปรียบเทียบระหว่างชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า (ชุมชนกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนชาวเลบริเวณชายฝั่งทะเลและเกาะในจังหวัด พังงา ภูเก็ต และกระบี่)
ก่อนที่จะเกิดความเสี่ยงทางสังคมและวัฒนธรรมที่มาจากความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ชนพื้นเมืองเผชิญกับปัญหาต่างๆ มานาน ตั้งแต่การถูกกลืนกลายหรือผสมผสานโดยสังคมวัฒนธรรมใหญ่กว่าหรือมีอำนาจมากกว่า ความไม่มั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย การเสื่อมสลายของวัฒนธรรมและภาษาพื้นถิ่น ฯลฯ ดังนั้น ชุมชนพื้นเมืองได้ผ่านภาวะความเสี่ยงต่างๆ และมีความพยายามที่จะรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้นมาอย่างยาวนาน
ในทำนองเดียวกันก็มีความพยายามระดับนานาชาติและระดับชาติที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมือง ภัยและความเสี่ยงใหม่ๆ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ทดสอบทั้งชุมชนพื้นเมืองและการจัดการของรัฐและสังคมใหญ่ว่าจะสร้างบริบทของการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ได้อย่างไรในอนาคต
โครงการนำร่องอันดามัน . 2555. ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของชุมชนพื้นเมืองในบริบทป่าและทะเลในประเทศไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์ สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย